วันพุธที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2552

อาการหลังใส่ตัวอ่อน

รอบนี้ใส่ตัวอ่อนในวันที่ 4 ซึ่งเริ่มเข้าระยะบลาสโตซิสแล้ว
หลังจากใส่ตัวอ่อนคุณหมอก็บอกว่าปฏิบัติตนได้ตามปกติ เพราะการนอนอยู่บนเตียงอย่างเดียวไม่ได้ช่วยเพิ่มอัตราการตั้งครรภ์ แต่ให้ระวังในเรื่องต่อไปนี้
  • ท้องผูก ท้องเดิน
  • พักมากๆ ระยะ 3 วันแรก
  • ขึ้นลงบันไดได้แต่อย่าหลายรอบนัก
...............................
มาดูกันว่าตัวอ่อนเจริญเติบโตอย่างไรบ้าง
ข้อมูลจาก http://www.pantown.com/board.php?id=23499&area=3&name=board2&topic=53&action=view

ใส่ตัวอ่อนวันที่ 3 ของการปฏิสนธิ
1วันหลังใส่ตัวอ่อน...ลูกตัวอ่อนเจริญเติบโตและพัฒนาต่อไป
2 วันหลังใส่ตัวอ่อน...ลูกตัวอ่อนเข้าสู่ระยะบลาสโตซิส
3 วันหลังใส่ัตัวอ่อน...ลูกตัวอ่อนฟักออกจากเปลือก(เซลล์บลาสโตซิส?)ในวันนี้
4 วันหลังใส่ตัวอ่อน...ลูกตัวอ่อนเข้าไปเกาะที่ผนังมดลูกของคุณแม่
5 วันหลังใส่ตัวอ่อน...การฝังตัวเข้าสู่ผนังมดลูกคุณแม่ ของลูกตัวอ่อนเริ่มขึ้นในวันนี้
6 วันหลังใส่ตัวอ่อน...กระบวนการฝังตัวดำเินินการต่อไป และลูกตัวอ่อนก็จะฝังตัวลึกลงไปยิ่งขึ้นในผนังมดลูกของคุณแม่

7 วันหลังใส่ตัวอ่อน...ลูกตัวอ่อนทำการฝังตัวเสร็จเรียบร้อยในผนังมดลูกของคุณแม่ และเริ่มมีการสร้างเซลล์ของรก และตัวของเบบี๋เอง
8 วันหลังใส่ตัวอ่อน...รกของเบบี๋เริ่มส่งฮอร์โมน HCG ไปยังระบบเลือดของคุณแม่
9 วันหลังใส่ตัวอ่อน...เริ่มผลิต HCG มากขึ้น เบบี๋ก็เริ่มพัฒนาเป็นตัวตนขึ้นเรื่อยๆ

10 วันหลังใส่ตัวอ่อน...เริ่มผลิต HCG มากขึ้นเรื่อยๆ เบบี๋ก็เริ่มพัฒนาเป็นตัวตนขึ้นเรื่อยๆ
11 วันหลังใส่ตัวอ่อน...ระดับของ HCG ณ วันนี้ก็จะสูงพอที่จะใช้ที่ตรวจตั้งครรภ์ (HPT) ตรวจได้แล้วค่ะ ^____^


ใส่ตัวอ่อนวันที่ 5 ของการปฏิสนธิ ระยะบลาสโตซิสต์ (Blastocyst)
0 วัน ณ วันใส่ตัวอ่อน...ลูกตัวอ่อนอยู่ในระยะบลาสโตซิสแล้วจ้า
1 วันหลังใส่ตัวอ่อน...ลูกบลาสฯ ฟักออกจากเปลือกหุ้ม
2 วันหลังใส่้ตัวอ่อน...ลูกบลาสฯ ไปเกาะที่ผนังมดลูกของคุณแม่แล้วจ้า
3 วันหลังใส่ตัวอ่อน....การฝังตัวเริ่มขึ้นวันนี้แหละ ลูกบลาสเริ่มที่จะฝังตัวสู่ผนังมดลูกของคุณแม่
4 วันหลังใส่ตัวอ่อน...กระบวนการฝังตัวก็ดำเนินการต่อไป ลูกตัวอ่อนฝังตัวลึกเข้าไปในผนังมดลูกของคุณแม่
5 วันหลังใส่ตัวอ่อน...ลูกตัวอ่อนทำการฝังตัวเสร็จเรียบร้อยในผนังมดลูกของคุณแม่ และเริ่มมีการสร้างเซลล์ของรก และตัวของเบบี๋เอง
วันหลังใส่ตัวอ่อน...รกของเบบี๋เริ่มส่งฮอร์โมน HCG ไปยังระบบเลือดของคุณแม่

7 วันหลังใส่ตัวอ่อน...เริ่มผลิต HCG มากขึ้น เบบี๋ก็เริ่มพัฒนาเป็นตัวตนขึ้นเรื่อยๆ

8 วันหลังใส่ตัวอ่อน...เริ่มผลิต HCG มากขึ้นเรื่อยๆ เบบี๋ก็เริ่มพัฒนาเป็นตัวตนขึ้นเรื่อยๆ
9 วันหลังใส่ตัวอ่อน...ระดับของ HCG ณ วันนี้ก็จะสูงพอที่จะใช้ที่ตรวจตั้งครรภ์ (HPT) ตรวจได้แล้วค่ะ ^____^


.......................................
เราใส่ตัวอ่อนในวันที่ 4 ของการปฏิสนธิ วันที่ 7 กันยายน ตัวอ่อนอยู่ในระยะเริ่มเข้าบลาสโตซิสต์ วันนี้ก็วันที่ 16 กันยายน รวมเป็นวันที่ 10 หลังใส่ตัวอ่อน พรุ่งนี้จะได้ลองตรวจปัสสาวะดู ต้องรอลุ้น


ที่อยากจะรีบตรวจก็เพราะวันพฤหัสคือพรุ่งนี้มีกิจกรรมเยอะแยะไปหมด ต้องเดินเยอะด้วย ต้องกลับบ้านเย็นอีก จะได้หายสงสัย วันศุกร์ก็มีตรวจประกันอีกมหาวิทยาลัยด้วย จะได้พยายามเลี่ยงให้มากที่สุด ....


มานึกดูการทำ ICSI รอบนี้ต่างจากการใส่ตัวอ่อนคราวที่แล้ว จำได้ว่าคราวที่แล้ว คุณหมอนัดตรวจเลือดวันที่ 17 ของการใส่ตัวอ่อนแน่ะ สองสามวันก่อนหน้านั้นปวดท้องมากๆๆๆๆ มีเจ็บหน้าอกนิดหน่อยเหมือนประจำเดือนจะมา พอรู้ผลว่าไม่ท้อง ก็ถามคุณหมอ คุณหมอบอกว่า อ๋อ ยาฮอร์โมนคุมไม่ให้ประจำเดือนมา พอมาไม่ได้ มันต้านกัน ก็เลยปวดท้อง


แต่คราวนี้ต่างกัน มีปวดท้องจี๊ดๆ บ้างช่วงสองสามวันแรก พอราววันที่ 6 วันที่ 7 ก็มีอาการแปลกๆ สอดยาก็ยาก เจ็บเต้านม หัวนมด้วย พอวันที่ 8 และ 9 นี่มีปวดหน่วงๆ เยอะอยู่ ไม่รู้เป็นไรนะ ที่บ้านก็ถามกันว่าเอแล้วยังจะเดินทางปลายเดือนอีกมั้ย เดือนตุลาคมก็จองตั๋วไปอินเดีย จะได้ไปมั้ย เดี๋ยวก็รู้

17 กันยายน 2552 -- ตื่นแต่เช้ามืด ลองตรวจดู ขีดไม่ขึ้น โอเค ทำใจแล้ว ชิว ชิวนะ แล้วทำไมมีอาการแปลกๆ นะเนี่ย สงสัยจะโดนหลอกให้ดีใจ


19 กันยายน --พบคุณหมอแล้ว ตามที่คาดไว้ ตัวอ่อนไม่ฝังตัว ตรวจเลือด B-HCG ได้แคุ่ 6.4 เอง คุณหมอบอกว่าดีขึ้นนะ คราวที่แล้วได้แค่ 1.6 มั้ง แต่ก็ไม่เสียใจไร เพราะรอบนี้มีคิวเดินทางรออยู่สัปดาห์หน้าเพราะได้โรงแรมแล้วเหลือแต่จองตั๋วเดินทาง ถ้าจะมีน้องจริงๆ ต้องคิดหนักว่าจะไปหรือไม่ไป ว่าแล้วสัปดาห์นี้ก็เริ่มหาข้อมูลไปบินตัน อีก 10 วันเดินทาง  หลังจากนั้นตอนเดือนตุลาจะได้ไปทำบุญที่อินเดีย คุณหมอก็ไม่อยู่ตุลาเหมือนกัน พอเหมาะพอเจาะ พักกันไว้ก่อนแล้วมาเริ่มใหม่เดือนพฤศจิกายนละกันจ้า

เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ Endometriosis

โรคเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ หรือ Endometriosis มีชื่อที่รู้จักกันทั่วไปว่า chocolate cyst


ใครบ้างที่มีโอกาสเป็นโรคนี้
     หญิงสาววัยเจริญพันธุ์ ซึ่งหมายถึงผู้ที่มีประจำเดือนนั่นเอง มักพบในผู้มีอายุ 30 ปีขึ้นไป ยังไม่แต่งงาน หรือยังไม่มีบุตร


อาการที่พบบ่อยของโรค
สิ่งเหล่านี้คืออาการที่พบบ่อย แต่ก็มีบางคนที่ไม่มีอาการ และบังเอิญไปตรวจพบเข้า (-- กรณีเราไม่มีอาการเลย แต่เมื่อปวดท้องรุนแรงก็ถึงขนาดที่ถึงขั้นต้องส่งเข้าห้องฉุกเฉินทันทีเพราะแตกแล้ววววว)
1. ปวดท้องขณะมีประจำเดือนมากกกกกกก
2. ปวดท้องก่อนหรือหลังมีประจำเดือน
3. ประจำเดือนมามากผิดปกติ
4. ปวดท้องน้อยขณะมีเพศสัมพันธุ์
ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีบุตรยากได้ หากปล่อยไว้ไม่รักษาอาจรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ


.......................
ตามธรรมชาติแล้วภายในของมดลูกจะมีเนื้อเยื่อบุมดลูกบุอยู่ (Endometrium) แต่หากเกิดเนื้อเยื่อบุเหล่านี้ไปขึ้นอยู่ผิดที่ผิดทางนอกมดลูก จะเรียกว่า Endometriosis เช่น ไปเกิดขึ้นที่รังไข่ เป็นต้น การเกิดโรคนี้ถือเป็นการทำงานผิดพลาดของระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิง



ระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิง จะถูกควบคุมโดยต่อมใต้สมอง(Pituitary gland) ซึ่งทำหน้าที่หลั่งฮอร์โมนไปกระตุ้นรังไข่ให้สร้างไข่และฮอร์โมนเพศ คือเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน ที่ควบคุมการเปลี่ยนแปลงของผู้หญิง เช่น เต้านม ลักษณะทางเพศ รอบประจำเดือน อารมณ์ การเตรียมสภาพร่างกายให้พร้อมสำหรับการตั้งครรภ์


ฮอร์โมนเพศทั้งสองชนิดนี้ที่หลั่งจากรังไข่จะเป็นตัวทำให้เยื่อบุมดลูกเจริญ เติบโตและหนาขึ้น โดยประมาณในวันที่ 21 นับจากวันแรกของการมีรอบเดือน ซึ่งเยื่อบุนี้จะมีต่อมมากมายและมีเส้นเลือดไปหล่อเลี้ยง เพื่อพร้อมแก่การฝังตัวของไข่ที่ได้รับการผสมกับอสุจิ แต่หากไม่มีการปฏิสนธิ ฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนจะลดระดับลง เยื่อบุมดลูกก็จะสลายตัวและขับออกมาเป็นรอบเดือน


Endometriosis เกิดขึ้นจากเนื้อเยื่อบุมดลูกเจริญเติบโตผิดที่ หากว่าเยื่อบุมดลูกเกิดขึ้นนอกมดลูก ก็จะทำให้เกิดความผิดปกติต่างๆ ที่เล่ามาข้างต้น บริเวณส่วนใหญ่ที่จะเกิดขึ้นได้คือใกล้ๆ มดลูก แม้ว่าจะยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง แต่ทางการแพทย์เชื่อว่า เกิดจากการไหลย้อนกลับของเลือดประจำเดือน ผ่านทางหลอดมดลูก ไปฝังตัวตามที่ต่างๆ เช่น ที่รังไข่ บริเวณอุ้งเชิงกราน หรือบริเวณนอกมดลูกเกิดเป็นเซลล์เยื่อบุที่มีลักษณะเหมือนถุงน้ำที่มีเลือด ออกอยู่ภายในและไม่สามารถขับออกมาได้ เมื่อหมดรอบเดือนน้ำก็จะถูกดูดซึมกลับเข้าสู่ร่างกายเหลือแต่เลือดเข้มข้น ค้างอยู่ นานเข้าก็จะกลายเป็นสีน้ำตาล หลายคนจึงเรียกว่า ช็อกโกแลตซีส (Chocolate cyst)


เมื่อถึงเวลารอบเดือนถัดไป มีการตกไข่และมีการหลั่งฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนอีก เนื้อเยื่อบุนอกมดลูกเหล่านี้ก็จะตอบสนองต่อฮอร์โมนด้วยเช่นเดียวกับเยื่อบุ ที่อยู่ภายในมดลูก คือสามารถเจริญเติบโต หนาตัวขึ้น สลายตัว และขับออกเป็นเลือดประจำเดือนได้ แต่เมื่อเกิดขึ้นนอกมดลูกจึงไม่สามารถขับออกได้ และจะยิ่งเพิ่มขนาดใหญ่ขึ้นเพราะมีการสะสมของเลือดมากขึ้น ซึ่งหากไปดันหรือกดเอาอวัยวะภายในอื่นๆ เช่น กระเพาะปัสสาวะ หรือผนังช่องท้อง ผนังลำไส้ก็จะทำให้เกิดการระคายเคือง เป็นอาการปวดท้องขึ้นได้ และหากโชคไม่ดีเยื่อบุที่อุ้มเลือดเก่าๆ เหล่านี้แตกขึ้นมา ก็จะยิ่งทำให้เกิดอาการปวดท้องเฉียบพลันรุนแรงได้ แต่สำหรับบางคน Endometriosis ก็สามารถฝ่อไปได้เองหากมีการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนเพศ


การรักษา
ส่วนใหญ่แล้วผู้หญิงมักต้องการรักษาเนื่องจากไม่สามารถทนการปวดท้องประจำเดือนที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ได้ และภาวะนี้จะไม่หมดไปตราบเท่าที่ยังมีประจำเดือนอยู่


1. ใช้ฮอร์โมน ทั้งแบบฉีดหรือแบบเม็ด จำเป็นต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์อย่างใกล้ชนิดเพราะยาฮอร์โมนโดยเฉพาะยาคุมกำเนิดบางชนิดมีระยะเวลาและปริมาณกำหนดในการใช้ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ข้างเคียงได้
2. ผ่าตัดใหญ่ทางหน้าท้อง เพื่อตัดเอาเนื้อเยื่อบุมดลูกที่เจริญผิดที่ออก และในกรณีรุนแรง แพทย์อาจพิจารณาตัดออกทั้งมดลูกและรังไข่ หรือแต่เพียงรังไข่ข้างที่มีปัญหา เพื่อตัดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต โดยเฉพาะในกรณีที่ไม่ประสงค์จะมีบุตร
3. ผ่าตัดด้วยกล้องส่อง Laparoscope วิธีนี้จะทำให้ฟื้นตัวได้เร็วกว่าเพราะเจาะผ่านหน้าท้องเพียง 3-4 รู เท่านั้น

ขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.spiceday.com/picpost/viewthread.php?tid=5287
http://www.thaiclinic.com/endometriosis.html

ใส่ตัวอ่อนรอบ 2 ทำ ICSI รอบ 3

รอบนี้คุณหมอนัดใส่ตัวอ่อนวันที่ 7 กันยายน 9.00 น. ที่ศิริราช ไปกันแต่เช้าตั้งแต่ก่อนหกโมงครึ่ง เพราะคุณสามีบอกต้องรีบไปชิงที่จอดรถบนอาคารจอดรถ แผนกผู้มีบุตรยากนี่เปิดให้เข้าไปตอนเจ็ดโมง โห เจ็ดโมงคนก็เยอะละ แต่มาตรวจอุลตร้าซาวนด์ซะส่วนใหญ่ พอสักแปดโมงกว่าเราเลยลองไปถามพยาบาลว่าจะให้ทานน้ำตอนไหน คุณพยาบาลก็ถามว่าหมออะไร พอบอกว่า อ.พิทักษ์ อ๋อ สิบโมงมั้ง เดี๋ยวดื่มน้ำได้เลย เหรอ โอเค เราก็เป็นคนชอบดื่มน้ำอยู่แล้ว ก็กระดกขวดน้ำ 600 ml. เข้าท้องหมดภายใน 5 นาที เพื่อนนั่งข้างๆ ยังทำหน้าประหลาดใจ โหดื่มเร็วซะขนาดนี้ (เดี๋ยวได้วิ่งเข้าห้องน้ำแน่) .... อีกสิบนาทีต่อมาพยาบาลคนที่ทำหน้าที่ช่วยคุณหมอตอนเก็บไข่ รีบเดินมาบอกว่า ไม่ต้องรีบทานน้ำนะคะ คุณหมอต้องคอยเครื่องมือ คงทำช้าหน่อย จะต้องทานน้ำเมื่อไรแล้วจะบอก 5555555 เป็นไงล่ะ เราก็ อ๋อ ค่ะ ทานหมดไปแล้วนี่ ต้องดื่มอีกรอบแน่เลย น้ำหมดขวดแล้ว แล้วจะหาน้ำที่ไหน คูลเลอร์น้ำดื่มของแผนกนี้ก็เป็นน้ำเย็นซะอีก ไม่ชอบ ขอทานน้ำอุ่นหรือน้ำไม่เย็นดีกว่า แต่เอ มื่อถือ ก็เอาไปฝากคุณสามีไว้ คุณซะมีก็ธุระเยอะเหลือเกิน เดินเข้าเดินออก เดินคุยงานทางโทรศัพท์ แล้วหายไปไหนไม่รู้ คุยกับเพื่อนที่นั่งข้างๆ เลยรู้ว่ามาใส่ตัวอ่อนเหมือนกัน คุณหมอเดียวกันด้วย เอ้า ขอยืมมือถือเค้าใช้ 1 นาทีละกัน ให้คุณสามีเอาน้ำมาให้  ที่ศิริราชนี่คนแน่นมาก ยิ่งคิวของ อ.พิทักษ์ก็เยอะมาก เพื่อนนั่งข้างๆ ที่ให้ยืมโทรศัพท์ เริ่มทานน้ำแล้ว พยาบาลให้เริ่มดื่มน้ำตั้งแต่สิบโมง ของเราคุณพยาบาลบอกว่าพิเศษหน่อย เคสนี้ยาก ต้องใช้เครื่องมือพิเศษ รอสั่งก่อน คิวสุดท้ายเป็นแน่แท้   เราก็นั่งคอยๆ คอยๆ ง่วงอยากจะหลับก็กลัวว่าพยาบาลจะเรียก จนเที่ยงคนไข้ของแผนกนี้จึงหายไปเกือบเกลี้ยง แต่ก็ยังไม่ถึงคิว คนที่คุณหมอนัดใส่ตัวอ่อนก่อนหน้าเราดื่มน้ำตั้งแต่ก่อนสิบโมง ต้องเดินเข้าเดินออกห้องน้ำไปปล่อยบ้าง สงสารจัง บ่ายโมงเพิ่งเห็นคุณหมอไปทานข้าว กว่าจะได้เรียกเข้าไปทำก็บ่ายครึ่งแน่ะ เป็นเราแย่แน่เลยต้องกลั้นปัสสาวะตั้งสองสามชั่วโมง  ทีนี้พอบ่ายโมงกว่าเลยไปถามว่าจะให้ทานน้ำหรือยัง คุณพยาบาลใจดีก็บอกว่า ทานไปเรื่อยๆ ได้เลยค่ะ แต่ไม่ต้องปล่อยออกนะคะ อ้าว มีงี้ด้วย ก็ปล่อยไปเยอะแล้วตั้งแต่ขวดแรกน่ะ ตอนนี้เลยค่อยๆ ดื่มไปเรื่อยๆ ตอนบ่ายครึ่ง พอน้ำหมดคนที่คิวก่อนหน้าเรา ก็เข้าไปพอดี  


พอสักบ่ายสองกว่า เห็นเจ้าหน้าที่เอาเครื่องมือมาส่ง สงสัยของเราแน่เลย คุณพยาบาลมาเรียกตอนบ่ายสามโมง กำลังปวดปัสสาวะได้ที่เลย ไม่นานเกินไป  คุณหมอยังบอกว่าคงยากแน่ เคสนี้ เตรียมเครื่องมือพิเศษไว้เลย แต่ท้ายที่สุดก็ไม่ได้ใช้ คุณหมอให้ใช้แบบปกติก่อน แป๊บเดียวก็ใส่ตัวอ่อนเรียบร้อย คุณหมอเราเก่งจริงๆ เสร็จแล้วคุณหมอก็เอารูปไข่และการแบ่งเซลล์ให้ดู แหมคุณหมอถ่ายรูปไว้ในมือถือด้วยเป็นชุดเลย ให้เห็นตั้งแต่ไข่วันแรกที่เก็บ สวยใช้ได้ ต่อจากนั้นก็เป็นภาพวันที่มีการปฏิสนธิแบ่งเซลได้สี่เซล วันต่อมา วันที่สามแบ่งเซลได้สิบเซล วันที่สี่คือวันที่ 7 กันยายนนี้ คุณหมอโชว์ให้ดูว่าตอนบ่ายนี้ตัวอ่อนเริ่มเข้าสู่ระยะบลาสโตซิส นับว่าเป็นการเจริญเติบโตเร็วดี เรายังนึกว่ายังไม่วันที่ห้าเลย เข้าสู่บลาสโตซิสแล้ว ดีจัง ทีแรกคราวก่อนๆ คุณหมอก็ห่วงอยู่ว่าการเติบโตของตัวอ่อนอาจอยู่ไม่ถึงขั้นบลาสโตซิส นี่ก็แสดงว่าสุขภาพเราดีขึ้นมากๆ จริงๆ คุณหมอถึงกับชมว่า มีพัฒนาการดีขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ อิอิ ขนาดคุณหมอยังไม่อยากเชื่อเลย  ทำครั้งแรกเดือนมีนาคม ไข่ไม่ปฏิสนธิ ทำ icsi ครั้งที่สองปลายเดือนกรกฎาคมปฏิสนธิแต่ไม่ตั้งครรภ์ ครั้งนี้ตัวอ่อนเจริญเติบโตได้ถึงขั้นบลาสโตซิสนับว่าดีทีเดียว ทำไมน่ะเหรอคะ ก็เพราะเราได้ไข่ใบเดียวทุกครั้งน่ะสิ .... ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าตัวอ่อนจะเกาะติดผนังมดลูกมั้ย รอลุ้นต่อไป คุณสามีบอกว่า คงไม่มีใครเหมือนคุณแล้ว กระตุ้นไข่ได้ไข่ใบเดียวเหมือนคนปกติเลย 55555 อย่างน้อยๆ เราว่ายาจีนนี่ได้ผลนะ

ต้องไปฉีดยา pregnyl 1500IU ทุก 3 วัน 3 เข็ม ไปทำยาหล่นแตกซะ เลยต้องขอให้คุณหมอสั่งให้ใหม่ให้วุ่นวายคุณหมอนัดเจาะเลือด ฟังผล วันที่ 19 กันยายน เป็นวันที่12 หลังใส่ตัวอ่อน รอลุ้นต่อไปจ้า

วันเสาร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2552

icsi รอบ 3

พอรู้ว่าไม่ตั้งครรภ์ก็กะว่าจะพักสักเดือนสองเดือน มี voucher ไปเที่ยว ก็น่าจะรีบเที่ยวซะก่อน แถมกะจะไปทำบุญที่อินเดียเดือนตุลาอีก ลูกจะได้บุญด้วย แต่พอไปตรวจกลางเดือนสิงหาคม คุณหมอบอกว่า เอ๊ะ มีไข่นี่นา เรากับคุณสามีก็เอ๋อ อ้อ เหรอคะ อืมม์ งง เรามีไข่ติดกันตั้งสองเดือนได้ด้วยแฮะ ทั้งที่มีรังไข่ข้างเดียว แถมเหลืออยู่น้อยอีก แสดงว่าสุขภาพดีขึ้นนะ ว่าแล้วก็โอเค กระตุ้นไข่ต่อ คราวนี้ใช้ clomid 3 เวลา 7 วันยาวกว่าปกติ พอมา ultrasound ดูอีกทีก็ยังแค่ 5 มม. คุณหมอเลยบอกรออีกหน่อย ไม่มียาเพิ่มเติม สัปดาห์ต่อมาได้เห็นไข่ 10.5 มม. อีกสองวันต่อมาไปศิริราชไข่โตเป็น 17.5 มม. รอบนี้สบายมาใช้ยากระตุ้นตัวเดียวเอง ไม่ต้องฉีดยาด้วย ดีจัง คุณหมอนัดเก็บไข่วันที่ 3 กันยายน ไปที่หน่วยผู้มีบุตรยาก วันนี้มีคนมาเก็บไข่สองคน เราเป็นคิวสอง ที่ตลกคือเค้ามีห้องเปลี่ยนเสื้อผ้า หญิงทุกคนก็ไปเปลี่ยนที่นั่นแหละ เราก็งงๆ ก็มันมีคนเปลี่ยนเสื้ออยู่น่ะ จะให้เข้าไปยังไง ผู้หญิงอีกคนผ่านมาเ่ลยบอกเข้าไปเหอะ เปลี่ยนด้วยกันหมดแหละ มีตั้งแต่คนมาอุลตร้าซาวน์ด คนมาเก็บไข่ คนมาใส่ตัวอ่อน ก็เปลี่ยนชุดกันในห้องนี้ เพียงแต่เปลี่ยนชุดกันคนละแบบ บางคนก็งงยังต้องถามกันว่าเปลี่ยนส่วนไหนยังไงบ้าง ยังดีที่คนไข้ผู้หญิงคนนึงมาเก็บไข่เหมืือนกันเป็นคิวแรก คงมาที่นี่หลายหนแล้ว เลยตอบคำถามทุกคนได้หมดว่าใครตรวจอะไรต้องเปลี่ยนเสื้อผ้ายังไง เสร็จแล้วเราก็เข้าไปอีกห้องนึง ที่นี่แยกห้องเก็บไข่ กับห้องใส่ตัวอ่อน ระหว่างคอยก้อนั่งคอยบนเตียงไม่มีไรทำ ก็เดินไปเดินมาแทน พอถึงคิวเรา ต้องฉีดยานอนหลับ พยาบาลถามว่ากลัวหรือเปล่า เส้นหายหมดเลย ยังไม่ทันตอบ คุณหมอเดินมาบอกว่า กลัวมาาาาากกก แหะ ได้แต่หัวเราะในใจ ก่อนหลับไป หลังจากนั้นเราได้นอนพักนานหน่อยเพราะคุณสามีวิ่งไปธุระที่ไหนก็ไม่รู้ เลยได้นอนพักตั้งสองชั่วโมง ได้ยาทั้ง estrofem และ crinone และใบสั่งฉีด pregnyl ที่คลีนิควันรุ่งขึ้น ทีนี้ก็ต้องรอลุ้นต่อไป คุณหมอนัดใส่ตัวอ่อนวันจันทร์ที่ 7 กันยายน ซึ่งเป็นวันที่ 4 หลังจากเก็บไข่ ยังงงเพราะทุกที 3 วันก็ให้ไปใส่ตัวอ่อนแล้ว เข้าใจว่าราชการคงไม่สะดวกกันวันอาทิตย์ละมัง ทีนี้ก็รอลุ้นอย่างเดียว กะว่าหลังจากนั้นคงพักสักสามวัน งดการสื่อสารใดๆ ท่าจะดี คราวที่แล้วหยุดพักงานนานจริงแต่มีแต่เรื่องกวนใจตลอด เพื่่อนเลยบอกหยุดไปเลยยยย